หาดนางกำ

หาดนางกำเป็นชายหาดอยู่ในอำเภอดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี มีวิถีชาวประมง ด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาติในบริเวณนั้นทำให้มีโลมาออกหากินจำนวนมาก จึงเป็นจุดลงเรือเพื่อเที่ยวชมโลมาสีชมพูและชมเกาะเล็กๆ บริเวณใกล้ชายหาดที่มีแนวหินชั้น หรือหินพับผ้าที่มีมากในหาดนางกำ และยังมีร้านอาหารทะเลเปิดให้บริการอยู่หลายร้าน จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ในอดีตก่อน พ.ศ. 2400 อ่าวบ้านนางกำเป็นป่าชายเลนทั้งหมด ไม่มีประชาชนอาศัยมีแต่พวกร่อนเร่มาหาปลา ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านใกล้เคียง บ้านท้องเนียน บ้านท้องอ่าว สาเหตุที่คนไม่ค่อยมาอยู่เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ต่างๆ บ่อยครั้ง เช่น ถ้าตกเบ็ดหรือทอดแหแล้วพูดว่าได้ปลา ปลาจะหายไป ผู้ที่มาหากินหรือพวกศิลปิน หนัง มโนราห์ นั่งเรือผ่านบริเวณอ่าวนางกำ จะเกิดเหตุปวดท้องมีอาการชักดิ้นบ่อยครั้ง จนในที่สุด มีรูปปั้นผู้หญิงสีทองยืนถือสากกะเบือ ตั้งอยู่ที่แหลมยายยี ชาวบ้านอ้างว่าผู้สร้างรูปปั้นตามคำคนโบราณเล่า คือพวกชาวจีนมาตัดไม้โกงกางในป่าชายเลนบริเวณนี้ส่งประเทศจีน และเกิดเหตุการณ์เทวดาเขาช้างลงโทษเหมือนเอาสากกะเบือตำท้องให้เจ็บปวดชักดิ้นชักงอ จึงสร้างรูปปั้นผู้หญิงสีทองคล้ายคนจีนยืนถือสากกะเบือ นำมาถวายเขาช้าง ตั้งแต่นั้นมาผู้ที่ผ่านอ่าวนี้เรียกชื่อว่า “บ้านนางทองคำ” ถ้าเป็นศิลปินก็ต้องจุดประทัดรำถวาย ถ้าเป็นชาวบ้านหรือเรือสินค้าต้องจุดประทัดหรือทำตามคำเล่าว่า “มาบ้านนางทองคำ คลำแล้วผ่านไป” ฉะนั้นอดีตบ้านนางกำชื่อว่าบ้านนางทองคำเพราะตัวรูปปั้นนางเป็นสีทองคำ ตามคำบอกเล่าอยู่ต่อมาอีกนาน

มีผู้ไม่หวังดีหรือผู้อุตริไปลักขโมยสากะเบือ เพราะคิดว่ามีทองคำฝังอยู่ภายในจึงได้ขโมยสากกะเบือไปเสีย ทำให้รูปปั้นนั้นเหลือเพียงแต่รูปผู้หญิงยืนกำมือ ต่อมาบ้านนางทองคำ จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านนางกำมือ” จนในที่สุดคำว่ามือหายไป เหลือเพียงแต่คำว่า “บ้านนางกำ” นับตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้

ในอดีตบ้านางกำ คือหมู่ที่ 7 ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาชาวบ้านนางกำโดยการนำของผู้ใหญ่เชียง นาคมณี ได้มีความคิดเห็นว่าควรย้ายบ้านนางกำมาขึ้นกับอำเภอดอนสัก เนื่องจากการคมนาคมติดต่อทางราชการอำเภอดอนสักสะดวกกว่าไปอำเภอขนอม จึงดำเนินการย้ายตามประกาศคณะปฏิวัติให้โอนพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านนางกำ ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้นกับอำเภอดอนสัก เป็นหมู่ที่ 10 ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฏร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ตั้งแต่บัดนั้น และต่อมา พ.ศ. 2546 บ้านนางกำได้แบ่งออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 7 บ้านนางกำ และหมู่ที่ 14 บ้านนางกำใหม่ แต่ทั้งสองหมู่บ้านยังคงดำเนินกิจกรรมร่วมกันตลอดมา

  • นั่งเรือชมโลมา
  • ชายหาดนางกำ
  • เวทีพุ่มพวง
  • นั่งเรือชมหินชั้น
  • เรือนำเที่ยว
  • ยินดีต้อนรับสู่นางกำ
  • มองจากเวทีพุ่มพวง
  • สักการะหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
  • ไหว้พระที่เกาะผี
  • ปลาในกระชัง
  • แนวหินชั้น
  • ฝูงโลมาเล่นน้ำ

ทริปนั่งเรือชมเกาะต่างๆ ใกล้ๆ นางกำและชมความน่ารักของฝูงโลมา

วันนี้มีทริปเที่ยวทะเลใกล้ๆ เมืองสุราษฎร์ฯ มาฝาก คือ หาดนางกำ ที่อำเภอดอนสัก นั่งรถไปประมาณ 50 นาทีก็ถึงหาดนางกำ เรามีแผนว่าจะไปดูโลมาสีชมพู ไปดูน้ำจืดกลางทะเล กราบหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ชมเกาะผี ถ้ำค้างคาว เกาะท่าไร่ เวทีพุ่มพวง ชมหินชั้นบริเวณนางกำ ที่เล่ามาเราจะต้องเช่าเรือ เพื่อนั่งไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งบริเวณนั้นจะมีเรือหางยาวของชาวบ้านให้เช่าอยู่แล้ว ไปติดต่อได้เลยราคาไม่แพง หลังจากเราได้เรือแล้ว ก็ไปที่ท่าเรือเพื่อลงเรือเดินทาง

ท่าเรือที่เราจะไปเที่ยวกัน

คุณลุงคนขับเรือและเป็นไกด์แนะนำการเที่ยวครั้งนี้

ระหว่างทางก็จะมีเรือชาวประมงกำลังออกหาปลาด้วย ที่เห็นด้านหลังเป็นเรือเฟอรี่ไปเกาะสมุย เพราะตรงนี้อยู่ใกล้ท่าเรือเฟอรี่

เรือประมงของชาวบ้าน

เราเจอเรือที่พาเที่ยวเหมือนกัน เค้าชี้ตำแหน่งที่มีโลมา เพื่อให้เราไปดูกัน

หินพับผ้า

หลังจากเรานั่งเรือออกมาจากหาดนางกำเพียงนิดเดียว ก็จะเห็นแนวหินชั้น ซึ่งเหมือนการพับผ้าที่วางขึ้นไปเป็นชั้นๆ ตามแนวเขาเกาะแก่งโค้งไปตามแนวของเขา เรียงรายเป็นแนวยาว มีบางช่วงที่มีลักษณะคล้ายถ้ำ คือแนวหินจะยื่นออกมาและมีช่องว่างภายใน พอเรามองเข้าไปก็จะเห็นมีรังนก ซึ่งน่าจะเป็นนกนางแอ่น ด้านบนของหินที่เรียงกันเป็นชั้นก็จะมีต้นไม้รูปร่างคล้ายๆ ต้นกระบองเพชรซึ่งก็ไม่แน่ใจเช่น ดูแปลกตาดีทำให้รู้สึกว่าธรรมชาติสามารถสร้างสิ่งที่ดูยิ่งใหญ่มาให้เราได้ชมอย่างน่าอัศจรรย์

  • หินชั้นเรียงซ้อนกัน
  • แนวหินชั้น
  • แนวหินชั้น
  • หินชั้นที่เรียงซ้อนกันตามลักษณะของเกาะ
  • แนวหินชั้นที่มีตลอดระยะทาง
  • แนวหินและต้นไม้ที่ดูแปลกตา
  • แนวหินชั้นและรังนก
  • หินชั้นเรียงกันเป็นหน้าผา

เวทีพุ่มพวง

หลังจากนั่งเรือมาชมหินชั้นตามแนวเกาะมาเรื่อยๆ เราก็จะเจอเป้าหมายของเราอีกที่ คือ เวทีพุ่มพวง เป็นแนวหินชั้นเช่นกันแต่มีความพิเศษที่ไม่เหมือนแนวหินชั้นบริเวณอื่นคือ มีเวิ้งเหว้าเข้าไปด้านในแนวหินชั้น ทำให้มีพื้นที่ว่างเกิดเป็นชายหาดย่อมๆ พร้อมโขดหินเรียงรายทำให้ดูคล้ายเวทีขนาดใหญ่ ซึ่งคุณลุงผู้นำทางบอกว่าช่วงที่มีชื่อบริเวณนี้จะเป็นช่วงที่คุณพุ่มพวง มีชื่อเสียงพอดีมาตรงกับบริเวณนี้ที่มีลักษณะคล้ายเวทีจึงได้ชื่อว่า เวทีพุ่มพวง ว่าแล้วคุณลุงจึงจอดเรือให้ทีมงานไปสัมผัสกับเวทีพุ่มพวง

เวทีพุ่มพวง มองจากบนเรือตอนที่ยังเข้าไปไม่ถึง เหมือนจะไม่ใหญ่ต้องลองเข้าไปจริงๆ จะรับรู้ขนาดจริงๆ ได้

เวทีพุ่มพวงจากด้านข้าง

ด้านในเวทีพุ่มพวงมีต้นไม้อยู่หลายต้น

มีชายหาดขนาดย่อม คุณลุงเล่าว่าตรงนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติชอบมาเล่นน้ำตรงนี้ด้วย

ตรงนี้น่าจะเป็นตรงกลางของเวทีได้ น่าจะจัดไปสักหนึ่งบทเพลง 5555

เวทีพุ่มพวงมุมมองด้านบน

เวทีพุ่มพวงเมื่อมองออกไปยังทะเล

เรานั่นเรือออกมาจากเวทีพุ่มพวงเพื่อไปยังที่ต่อไป สังเกตว่าน้ำทะเลตรงนี้ใสมากๆ

เกาะนุ้ย (สักการะหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด)

สถานีถัดไปที่เรากำลังนั่งเรือไปคือเกาะนุ้ย ที่เกาะนุ้ยแห่งนี้มีบ่อน้ำจืดธรรมชาติอยู่ในทะเล ใช่แล้วอ่านไม่ผิดนะคะ บ่อน้ำจืดธรรมชาติในทะเล ซึ่งเป็นบ่อเล็กๆ ที่จะเห็นเมื่อน้ำทะเลลดลงไป ชาวบ้านมีความเชื่อว่า บ่อน้ำจืด คือบริเวณที่หลวงปู่ทวดได้เคยมาเหยียบน้ำทะเลให้กลายเป็นน้ำจืดตามตำรา ดังนั้นบนยอดเขาของเกาะนุ้ยจึงมีหลวงปู่ทวดประดิษฐานอยู่

ที่เห็นไกลๆ คือ เกาะนุ้ย ที่เรากำลังจะไป

เรือนักท่องเที่ยวที่จอดส่งนักท่องเที่ยวขึ้นเกาะนุ้ย เพื่อขึ้นไปสักการะหลวงปู่ทวด

เกาะนุ้ยเป็นเกาะเล็กๆ ตอนนี้คุณลุงตีวงซัดโค้งเรือเพื่อมารอ ให้เรือลำอื่นออกเพื่อจะได้มีที่จอดเรือ

ทางขึ้นเกาะนุ้ย ซึ่งเราจะขึ้นไปสักการะหลวงปู่ทวดด้านบนยอดเขา

ระหว่างทางขึ้นจะมีป้ายบอกจุดที่มีบ่อน้ำทะเลจืด

บ่อน้ำทะเลจืดอยู่ด้านล่างตามป้ายบอก

ตรงนี้คือบ่อน้ำทะเลจืด แต่ว่าน้ำทะเลขึ้นพอดี

ระหว่างทางมีพระพุทธรูปให้สักการะ

ระยะทางขึ้นยอดเขาบนเกาะนุ้ยประมาณเอาเองว่า 500 เมตร ก็ทำให้หอบเล็กๆ ได้เช่นกัน

เกือบจะถึงแล้วว พักถ่ายรูปมาฝากเพื่อจะได้จินตนาการที่ตรงกันกับระดับความหอบ

ถึงแล้วยอดเขาบนเกาะนุ้ย เกาะเล็กๆ กว่าจะมาถึงก็หอบเล็กน้อย

ขึ้นมาแล้วทีมงานเราก็สักการะหลวงปู่ทวด เพื่อความเป็นสิริมงคล

เกาะท่าไร

หลังจากเราได้สักการะหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดที่เกาะนุ้ยแล้ว เราก็นั่งเรือเพื่อที่จะไปเกาะท่าไร่ บริเวณนี้คุณลุงบอกว่าจะมีหญ้าทะเลจำนวนมาก ประมาณ 50-80 ไร่ ซึ่งเป็นหญ้าทะเลที่มาจากการปลูกของชาวบ้านในชุมชน คณะวิจัย และอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ที่ได้ร่วมกันปลูกและอนุรักษ์ไว้ บริเวณโดยรอบก็จะมีทุ่นเพื่อป้องกันการเข้าไปทำลายแนวหญ้าทะเล คุณลุงดับเครื่องจอดเรือ เพื่อให้ใบพัดไม่โดนหญ้าทะเล และให้เราได้ดูหญ้าทะเล

เกาะท่าไร่มีชายหาดอยู่ด้านหน้า

ที่เห็นไกลๆ คือเกาะท่าไร่

หญ้าทะเลที่ปลูกไว้

เราได้นั่งเรือต่อไปที่เกาะผี ซึ่งมีถ้ำค้างคาวอยู่ภายในซึ่งเกาะผีจะเห็นได้จากบริเวณชายหาดนางกำ จะอยู่ตรงกลางพอดีเป็นจุดเด่นมองเห็นได้ชัด ระหว่างทางกลับจากเกาะท่าไร่ เพื่อย้อนไปยังเกาะผีที่อยู่หน้าหาดนางกำ เราก็จะเห็นบ้านชาวประมงที่เลี้ยงปลาในกระชังและปลูกบ้านอยู่ริมๆ เกาะ ซึ่งเป็นเกาะน้อยเกาะใหญ่เป็นภูเขาหินสูงๆ แต่ก็ไม่ได้ถามชื่อเกาะจากคุณลุง เหมือนเขาซอยในหมู่บ้าน แต่เปลี่ยนจากบ้านแต่ละหลังเป็นเกาะภูเขาที่มีหินเป็นหน้าผา ชาวบ้านอยู่บริเวณนี้นับได้ประมาณ 10 หลังคาเรือนลักษณะบ้านก็จะกั้นง่ายๆ บางหลังก็เป็นโป๊ะลอยน้ำติดไปกับกระชังปลา

กระชังปลา

บ้านชาวประมงแบบมีทุ่นลอยน้ำ

บ้านชาวประมงอีกแบบ แบบปลูกยกเรือน

เรือผ่านกระชังปลา

เกาะผี

เกาะผีจะมองเห็นได้จากหาดนางกำ เป็นเกาะที่มีรูปร่างคล้ายเต่าจะอยู่ตรงกลางทะเลเมื่อมองจากหาดนางกำ ด้านในเป็นที่อยู่ของค้างคาวจำนวนมาก เกาะผีมีความเชื่อว่ามีวิญญาณอยู่ที่เกาะผีแห่งนี้ จึงได้มีพระพุทธรูปมาประดิษฐานอยู่ภายในเกาะผี

เกาะผี

พระพุทธรูปในเกาะผี

ชมโลมาสีชมพู

บริเวณทะเลในอำเภอดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี จะมีฝูงโลมาสีชมพูอาศัยอยู่ เพราะเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ โลมาสีชมพูจริงๆ แล้วเป็นโลมาหลังโหนกสีที่ตัวก็จะเป็นสีเทาๆ เหมือนโลมาอื่นๆ แต่ว่าตัวที่เป็นสีชมพูคือตัวที่มีอายุมากแล้วทำให้มีผิวสีเผือกไปจนถึงสีชมพู

โลมาสีชมพู

โลมาตัวอื่นๆ ในฝูง ที่เห็นคือโลมาสีเทาซึ่งสีผิวก็กำลังเปลี่ยนไปสีชมพู

ชมโลมาสีชมพู หาดนางกำ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี